รู้จักเหรียญดิจิทัลก่อนลงทุน
“บิทคอยน์ อีเธอเรียม ริปเปิล” ชื่อเงินสกุลแปลกใหม่ถือกำเนิดขึ้นในโลก และกำลังเป็นที่จับตาของคนในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนว่า จะเข้ามามีบทบาทปฏิวัติการเงินการลงทุนทั่วโลกมากน้อยเพียงใด
อีกด้านหนึ่ง วงการมิจฉาชีพก็เริ่มปรับแผนกลโกง แอบอ้างเหรียญดิจิทัลมาชักชวนให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ระดมทุนตั้งโครงการใหม่ หรือชวนลงทุนโดยอ้างว่ามีเอไอช่วยสร้างผลตอบแทนสูงอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายก็เพียงต้องการหลอกเอาเงินในกระเป๋าแล้วหนีไป
สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันมิจฉาชีพได้ดี คือ รู้และเข้าใจจริงในสิ่งที่จะลงทุน โดยเฉพาะเหรียญดิจิทัลซึ่งเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่น้อยคนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้
เหรียญดิจิทัลคืออะไร
เหรียญดิจิทัลหรือสินทรัพย์ดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลที่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ มี 3 ประเภท ได้แก่
• คริปโทเคอร์เรนซี ใช้ซื้อขายสินค้าและบริการ โดยสกุลเงินที่ได้ยินบ่อย อาทิ บิทคอยน์ อีเธอเรียม ริปเปิล ซึ่งร้านค้าในประเทศไทยบางแห่งรับชำระด้วยบิทคอยน์แทนเงินบาท ลักษณะคล้ายเงินแต่ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จะใช้เฉพาะกลุ่มที่ยอมรับเท่านั้น
• โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ หากโครงการได้กำไรก็จะนำมาแบ่งปันให้ผู้ถือโทเคน ลักษณะคล้ายระดมทุนแบบหลักทรัพย์หุ้น-หุ้นกู้ ซึ่งการออกหลักทรัพย์เรียก IPO แต่เมื่อเป็นโทเคนจะเรียก ICO
• โทเคนดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ ให้สิทธิผู้ถือเหรียญไปใช้ประโยชน์ในแพลตฟอร์ม ลักษณะคล้ายการซื้อเหรียญเพื่อใช้ในศูนย์อาหาร เป็นต้น
การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่อใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะของการระดมทุน ต้องขออนุญาตและเปิดเผยข้อมูลกับสำนักงาน ก.ล.ต. และขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ส่วนคริปโทเคอร์เรนซีไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.
แต่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า (ดีลเลอร์) นายหน้า (โบรกเกอร์) และศูนย์ซื้อขาย (เอ็กซ์เชนจ์) จะประกอบธุรกิจได้ ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.
อยากลงทุนต้องรู้อะไร
เหรียญดิจิทัล ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะเป็นของใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักดี ผู้จะลงทุนได้ต้องเข้าใจลักษณะทางเทคนิคของเหรียญดิจิทัล รวมทั้งเข้าใจสินทรัพย์ประเภทนี้เป็นอย่างดี โดยมีเช็กลิสต์ 3 ข้อเพื่อตรวจสอบว่าตัวเองเหมาะกับการลงทุนในเหรียญดิจิทัลหรือไม่ ดังนี้
.เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความผันผวนสูงมาก ราคาเหวี่ยงขึ้นลงได้ครั้งละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก หมายความว่ามีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงและโอกาสสูญเสียหรือขาดทุนสูงเช่นกัน ตามหลักการ High Risk, High Expected Return
.ข้าใจรายละเอียดทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์ เข้าใจว่าเหรียญทำอะไรได้ อ่านข้อมูลในเอกสารเสนอขาย (white paper) แล้วเข้าใจวัตถุประสงค์ว่านำไปลงทุนโครงการอะไร ดูความเป็นไปได้ของธุรกิจ รู้ประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ แยกแยะของจริงของปลอมได้
.ต้องเป็นผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้ “สูงมาก” ตรวจสอบตัวเองด้วยการทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (suitability test)
แม้ธุรกิจบางรายออกเหรียญดิจิทัลโดยมีสินทรัพย์หรือธุรกิจหนุนหลัง แต่โดยหลักเหรียญดิจิทัลมักเป็นเครื่องมือระดมทุนของสตาร์ทอัพหรือการเริ่มต้นโครงการใหม่ ๆ จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงสำหรับผู้ลงทุน ดังนั้น ผู้สนใจลงทุนไม่ควรมองเพียงผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่พึงระวังความเสี่ยงที่มาควบคู่กันด้วย
“ความแตกต่างระหว่างการลงทุนในเหรียญดิจิทัลและลงทุนในหุ้นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ คือ การลงทุนในหุ้นผู้ลงทุนได้สิทธิความเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย ส่วนการลงทุนใน ICO จะผูกกับโครงการใดโครงการหนึ่ง ผู้ลงทุนมีสิทธิใช้แพลตฟอร์ม สิทธิในการได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือสิทธิอื่นใดที่ระบุไว้ แต่ไม่สามารถการันตีได้ว่าโครงการนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงทำให้การลงทุนเหรียญดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง” นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าว
สังเกตดี ๆ ระวังโดนหลอก
เนื่องจากเหรียญดิจิทัลหรือสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังอยู่ในกระแส อีกทั้งมีข่าวเผยแพร่บ่อย ๆ ว่า ได้กำไรสูงมาก ซึ่งมีคนที่ทำธุรกิจจริงและคนที่หลอกลวงแอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลมาชักชวนลงทุน โดยบางครั้งก็มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ จึงขอให้ศึกษาให้ดีก่อนลงทุนว่า คนที่มาชวนเป็นผู้ทำธุรกิจจริงหรือไม่ ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ โดย 5 จุดสังเกตการชักชวนลงทุนที่อาจเป็นการหลอกลวง
1. มักจูงใจด้วยผลตอบแทนสูงเกินจริงและเร่งรัดให้ตัดสินใจ
2. การันตีผลตอบแทน ซึ่งการลงทุนที่แท้จริงไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้
3. หาข้อมูลไม่ได้ว่าทำธุรกิจจริงหรือไม่ แหล่งเงินผลตอบแทนมาจากที่ใด
4. ขอให้ชวนเพื่อนมาลงทุนด้วย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่
5. ผู้ชักชวน ตัวกลางซื้อขาย หรือเหรียญดิจิทัล อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่
บ่อยครั้ง มิจฉาชีพมักจะลอกลวง “แอบอ้างคนมีชื่อเสียง” หรือคนใกล้ตัวเพื่อให้ธุรกิจดูน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ชวนลงทุน ผลิตภัณฑ์การลงทุน หรือบริษัท ว่าได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชั่น SEC Check First หรือดูรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล และสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสที่ศูนย์บริการประชาชน โทรศัพท์ 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง