การใช้คุกกี้

เว็บไซต์รู้เรื่องเงิน ใช้คุกกี้จำเป็นเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และอาจใช้คุกกี้ชนิดจดจำข้อมูลซึ่งคุณสามารถเลือกเปิดหรือปิดการใช้งานได้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ โดย เว็บไซต์รู้เรื่องเงิน จะไม่ใช้คุกกี้ชนิดนี้หากคุณเลือกปิดการใช้งาน การใช้เครื่องมือนี้ จะติดตั้งคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณเพื่อที่จะจดจำข้อมูลการตั้งค่าต่างๆ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุกกี้ที่ เว็บไซต์รู้เรื่องเงิน ใช้ สามารถดูได้ที่หน้าเว็บ “คุกกี้”


คุกกี้ที่จำเป็น

คุกกี้เหล่านี้ที่จำเป็นในการเปิดใช้คุณลักษณะการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์ เช่น การรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการเครือข่าย การเข้าสู่ระบบ คุณสามารถปิดการใช้งานคุกกี้เหล่านี้ได้ด้วยการตั้งค่าในเว็บเบราว์เซอร์ แต่การตั้งค่าดังกล่าวอาจส่งผลต่อการทำงานของเว็บไซต์


คุกกี้วิเคราะห์

เว็บไซต์รู้เรื่องเงิน ใช้คุกกี้ Google Analytics เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ โดยรวบรวมและรายงานข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ คุกกี้ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลที่ไม่ระบุตัวบุคคลโดยตรง

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคุกกี้ชนิดนี้ สามารถดูได้ที่หน้าเว็บ “คุกกี้”


นโยบายความเป็นส่วนตัว
close

Unit Linked ประกันชีวิตควบการลงทุน

Unit Linked ประกันชีวิตควบการลงทุน

ถ้าพูดถึง “ประกันชีวิต” หลายคนคงจะนึกถึงความคุ้มครองต่าง ๆ ที่จะได้รับ เพื่อความมั่นคงของชีวิต และคนในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประกันชีวิตมีให้เลือกหลากหลายประเภท

ในยุคที่คนรุ่นใหม่ใส่ใจทั้ง “ความมั่นคง” และ “การเติบโตของเงิน” ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบ Unit Linked จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลาย ๆ คน ให้ความสนใจ เพราะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งสองด้านครบจบในผลิตภัณฑ์เดียว พูดง่าย ๆ ก็คือ “ให้ทั้งคุ้มครองชีวิต และให้สิทธิ์ในการลงทุน”

แล้ว Unit Linked คืออะไร?

Unit Linked คือประกันชีวิตรูปแบบหนึ่งที่พ่วงการลงทุนเข้าไปด้วย Unit Linked มาจากคำว่า Unit Linked Insurance Policy (ULIP) หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (กรมธรรม์ Unit Linked)[1] คือ การประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม โดยเบี้ยประกันของกรมธรรม์ Unit Linked แบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 ค่าการประกันภัย เป็นค่าความคุ้มครองชีวิตตามที่กรมธรรม์ประกันชีวิตกำหนด โดยผู้ขอเอาประกันภัยสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองได้ตามความต้องการ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำเงินส่วนนี้ไปบริหารเอง และบริษัทจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

ส่วนที่ 2 ค่าธรรมเนียม เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ ที่บริษัทเรียกเก็บเพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าดูแลรักษากรมธรรม์ และค่าบริการในการลงทุน ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันไปแล้วแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท

ส่วนที่ 3 ส่วนของการลงทุน เป็นส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้ขอเอาประกันภัยเลือก ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามที่ผู้เอาประกันภัยเลือก โดยผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุนในส่วนนี้เอง

ผู้เอาประกันสามารถเลือกเองได้เลยว่าเบี้ยที่จ่ายจะเน้นไปที่ความคุ้มครอง ส่วนที่ 1 หรือ เงินลงทุน ส่วนที่ 3 โดยสามารถกำหนดความคุ้มครองของกรมธรรม์ได้เอง หากเราต้องการความคุ้มครองสูง เบี้ยก็จะถูกจ่ายไปที่ส่วนของความคุ้มครองมากกว่า ส่วนของเงินลงทุนก็จะน้อยลง และมูลค่าบัญชีหรือมูลค่าเงินสดในส่วนของเงินลงทุน ก็จะสามารถถูกขายคืนมาเพื่อจ่ายค่าการประกันภัย หรือส่วนของความคุ้มครอง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกรมธรรม์ได้

ทำไม Unit Linked ถึงน่าสนใจ?

1. ได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันทั่วไป

กรณีเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินทั้งจากกรมธรรม์ชีวิตและมูลค่าการลงทุน

2. เหมาะกับการวางแผนการเงินระยะยาว

Unit Linked ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ใครที่อยากวางแผนเกษียณ มีเป้าหมายทางการเงิน หรืออยากเริ่มต้นลงทุน แต่ยังอยากอุ่นใจจากความคุ้มครอง

3. เลือกลงทุนได้สไตล์ของตัวเอง

อยากเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย สามารถเลือกได้ตามความต้องการ เพราะมีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมให้เลือกหลากหลายและระดับความเสี่ยง

4. ยืดหยุ่นสูง

จะเพิ่มเงินลงทุน หยุดจ่าย หรือถอนเงินบางส่วนออกมาใช้ ก็สามารถทำได้  หรือจะปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันระหว่างทางที่เรายังถือกรมธรรม์อยู่ ก็สามารถทำได้หากกรมธรรม์ยังมีผลบังคับ และมูลค่าบัญชียังเพียงพอที่จะชำระค่าการประกันภัยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกรมธรรม์ (แต่ควรศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจทำประกัน)

5. ซื้อความคุ้มครองอื่นเพิ่มได้ เช่น คุ้มครองอุบัติเหตุ โรคร้ายแรง

จะเห็นได้ว่า Unit Linked ไม่ใช่แค่ประกันชีวิต แต่เป็นเครื่องมือวางแผนการเงินระยะยาวที่รวมความคุ้มครองชีวิตกับการลงทุนอย่างลงตัว ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากให้เงินทำงาน ไม่อยากแค่จ่ายเบี้ยทิ้งเปล่าทั้งก้อน และยังต้องการความอุ่นใจจากการคุ้มครองชีวิต Unit Linked น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ

แม้ว่า Unit Linked จะดูดีและครบเครื่อง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน เพราะไม่มีการกำหนดผลตอบแทนชัดเจนแบบประกันสะสมทรัพย์ ผลตอบแทนที่ได้ขึ้นอยู่กับผลการลงทุนที่เราเป็นคนเลือก  ดังนั้น จึงควรมีความเข้าใจดีในเรื่องของการลงทุน และต้องศึกษาข้อมูลกรมธรรม์ ข้อมูลกองทุนและระดับความเสี่ยงที่เลือกลงทุนอย่างละเอียด รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ควรรู้ เช่น ค่าบริหารกรมธรรม์ ค่าธรรมเนียมกองทุน ฯลฯ ก่อนตัดสินใจทำประกันและลงทุน

 

[1] ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)